หน้าแรก >> สธ. ย้ำเตือนผู้ปกครอง ระวังเด็กเล็กป่วย "โรคมือ เท้า ปาก"

Jan
18
สธ. ย้ำเตือนผู้ปกครอง ระวังเด็กเล็กป่วย "โรคมือ เท้า ปาก"
ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ มือ เท้าปาก

 

สธ. ย้ำเตือนผู้ปกครอง ระวังเด็กเล็กป่วย "โรคมือ เท้า ปาก"
           กระทรวงสาธารณสุข ให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด เฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก ในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลทั่วประเทศ เผยรอบ 5 เดือนปีนี้ป่วยแล้วกว่า 13,000 ราย แนวโน้มพบป่วยเพิ่มขึ้น คาดจะสูงสุดในเดือนกรกฎาคมอาจพบผู้ป่วยได้ถึง 5,000 ราย
          เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2557 นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า สภาพอากาศในช่วงฤดูฝนจะมีความเย็นและชื้น เอื้อต่อการเจริญของเชื้อโรคต่าง ๆ อีกทั้งขณะนี้โรงเรียนเปิดเทอมแล้ว โรคที่กระทรวงสาธารณสุขมีความเป็นห่วงเป็นพิเศษ คือโรคมือ เท้า ปาก ซึ่งโรคนี้พบได้ตลอดปี แต่จะพบมากในช่วงฤดูฝน
      ทั้งนี้ ในปี 2557 นี้ พบจำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มสูงขึ้น ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 9 มิถุนายน สำนักระบาดวิทยารายงานผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก ทั่วประเทศ 15,311 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 1 ปี รองลงมา คือ 2 ปี และ 3 ปี โดย 5 จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน รองลงมา คือ เพชรบุรี เชียงราย จันทบุรี และประจวบคีรีขันธ์ นพ.ณรงค์ กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบจำนวนผู้ป่วยรายเดือนในปี พ.ศ. 2557 กับปี พ.ศ. 2556 พบว่า ในเดือนมีนาคม 2557 มีรายงานผู้ป่วยมากกว่าปี 2556 คิดเป็น 1.4 เท่า และเดือนเมษายนสูงกว่า 1.7 เท่า โรคมีแนวโน้มระบาดเพิ่มสูงขึ้น คาดว่าจำนวนผู้ป่วยจะมีมากขึ้นในช่วงฤดูฝน โดยเฉลี่ยตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม จะมีผู้ป่วยโรคนี้มากกว่าช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ประมาณ 3.5 เท่าตัว คาดการณ์ว่าจำนวนผู้ป่วยจะสูงสุดในเดือนกรกฎาคมจะมีประมาณ 5,500 ราย
          ดังนั้น จึงได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด รวมทั้งประสานกับ กทม. ให้เฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนการป้องกันโรค และประสานความร่วมมือหน่วยงานเกี่ยวข้อง เช่น อบต. ผู้บริหารโรงเรียนในการดูแลพื้นที่เสี่ยงสำคัญคือศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล ซึ่งมีเด็กอยู่รวมกันจำนวนมาก ให้ครูตรวจไข้เด็กทุกวันตอนเช้า หากพบมีไข้ มีตุ่มใสขึ้นตามมือ ในปาก ขอให้สงสัยว่าอาจเป็นโรคมือเท้าปาก ให้เด็กหยุดเรียนจนกว่าจะหายป่วย พร้อมทั้งแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อควบคุมป้องกันโรค
          ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคมือ เท้า ปาก มีสาเหตุจากเชื้อไวรัสโรคนี้จะติดต่อกันและเข้าทางปาก โดยเชื้อติดมากับมือที่สัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย น้ำในตุ่มพองหรือแผลของผู้ป่วย และอุจจาระของผู้ป่วย อาการป่วยจะเริ่มจาก มีไข้ มีตุ่มแดงขึ้นในปาก มักพบที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม ทำให้เจ็บปาก ไม่อยากทานอาหาร ตุ่มอาจพบที่บริเวณฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่ก้น หัวเข่าได้เช่นกัน ตุ่มมักไม่คัน แต่กดจะเจ็บ ต่อมาตุ่มจะแตกเป็นหลุมตื้น ๆ อาการจะดีขึ้นและแผลหายไปใน 7 -10 วัน
          ส่วนใหญ่เด็กที่ป่วย มักพบในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และมักพบในสถานที่เด็กอยู่รวมกันจำนวนมาก เช่น สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาล โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ และอยู่กันอย่างแออัด ทั้งนี้ โรคนี้ไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีนป้องกัน เมื่อป่วยแล้วส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 99 อาการจะหายได้เอง ภายใน 7- 10 วัน
          การรักษาจะเน้นเพื่อบรรเทาอาการ เช่น การใช้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ยาทาแก้ปวดแผลที่ลิ้น และกระพุ้งแก้ม ผู้ดูแลเด็กควรเช็ดตัวลดไข้เป็นระยะ และให้เด็กรับประทานอาหารอ่อน ๆ รสไม่จัด ดื่มน้ำ น้ำผลไม้หรือไอศกรีมเย็น ๆ และนอนพักผ่อนมาก ๆ ถ้าเป็นเด็กอ่อน อาจต้องป้อนนมให้แทนการดูดนม เพื่อลดการปวดแผลในปาก ที่สำคัญคือการป้องกันอาการแทรกซ้อนที่อาจรุนแรงถึงเสียชีวิต
          นพ.โสภณ กล่าวต่ออีกว่า วิธีที่ลดการเจ็บป่วยดีที่สุดคือการป้องกัน โดยการรักษาความสะอาดร่างกาย ตัดเล็บให้สั้น หมั่นล้างมือด้วยน้ำสบู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังการขับถ่ายและก่อนรับประทานอาหาร รวมทั้งใช้ช้อนกลาง และไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน
          หากพบมีเด็กในโรงเรียนอนุบาล ศูนย์เด็กเล็ก หรือสถานรับเลี้ยงเด็กป่วยด้วยโรคมือเท้าปาก ต้องแยกเด็กป่วยออกจากกลุ่มเพื่อน ให้พักที่บ้านเป็นเวลา 1 สัปดาห์ และให้ทำความสะอาดพื้น ห้องน้ำ สุขา เครื่องใช้ ของเล่น สนามเด็กเล่น ตลอดจนเสื้อผ้า ที่อาจปนเปื้อนเชื้อ โดยใช้นํ้ายาฆ่าเชื้อที่ใช้ทั่วไป หากมีเด็กป่วยจำนวนมาก อาจจำเป็นต้องปิดสถานที่ชั่วคราว เป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ และทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคโดยอาจใช้สารละลายเจือจางของน้ำยาฟอกขาว 1 ส่วนผสมกับน้ำ 30 ส่วน
          "อย่างไรก็ดี หากผู้ปกครองสังเกตเห็นลูกที่ป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก อาการไม่ดีขึ้น ยังมีไข้สูง ซึม อาเจียนบ่อย ๆ หายใจหอบ แขนขาอ่อนแรง ไม่รับประทานอาหารและนํ้า ขอให้รีบพาไปพบแพทย์ หรือโทรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ โทร. 02-590-3159 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422" นายแพทย์โสภณ กล่าว